การใช้ ถุงยางอนามัย ในระหว่างมีเพศสัมพันธ์ จะช่วยในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเป็นวิธีการคุมกำเนิดอย่างหนึ่งสำหรับคู่รักที่ยังไม่พร้อมที่จะมีบุตร ในขณะเดียวกันหากคู่รักนั้นมีการใช้ถุงยางอนามัยที่ผิดวิธี ก็อาจเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหา เช่น ถุงยางแตก ถุงยางฉีกขาด ขณะมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เสี่ยงต่อการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ได้
สาเหตุหลักที่อาจทำให้เกิดถุงยางแตก
Table of Contents
ถุงยางแตก ที่เกิดขึ้นได้ขณะทำกิจกรรมทางเพศร่วมกันถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก นอกเสียจากว่าจะมีพฤติกรรมบางอย่างที่เผลอทำโดยไม่รู้ตัว หรือเพิกเฉยถึงข้อควรระวังการใช้ จึงอาจก่อให้เกิดถุงยางแตกขึ้นมาได้ ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นสภาพถุงยางอนามัยที่ใช้ และปัจจัยอื่น ดังนี้
- การเลือกใช้ถุงยางอนามัยผิดขนาด
- การแกะบรรจุภัณฑ์ของถุงยางที่ผิดวิธี หรือใช้ของมีคม
- ถุงยางขาด ถุงยางแตกเกิดขึ้นได้หากถูกฟันกัดหรือเล็บกรีดจนขาด
- การใช้ถุงยางอนามัยที่หมดอายุแล้ว
- มีการเก็บรักษาถุงยางอนามัยที่ไม่เหมาะสม เช่น เก็บในที่ที่โดนแสงแดด หรือความร้อน
- ใช้ถุงยางอนามัยแบบไม่มีสารหล่อลื่น หรือสารหล่อลื่นไม่พอ
ถุงยางแตก..มีความเสี่ยงอะไรบ้าง?
หากเกิดถุงยากแตก หรือเลื่อนหลุดออกมาขณะทำกิจกรรมทางเพศ คู่รักควรหยุดการร่วมเพศทันที ซึ่งถุงยางแตกก่อให้เกิดความเสี่ยง ดังนี้
- ความเสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ
- ความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ เป็นปัญหาที่คู่รักหลายคู่กังวลเมื่อถุงยางแตกขณะร่วมเพศ
ถุงยางแตก..ควรทำอย่างไร?
เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างถุงยางแตก หรือถุงยางฉีกขาด ในระหว่างที่กำลังมีเพศสัมพันธ์นั้น สิ่งที่เราควรจะต้องปฎิบัติ ก็คือ วิธีการจัดการปัญหาที่แตกต่างกันไปตามลักษณะการร่วมเพศ มีดังนี้
สำหรับการร่วมเพศทางช่องคลอด
- ฝ่ายหญิงควรรีบเข้าห้องน้ำ และปัสสาวะออกมา เพื่อขับตัวอสุจิที่อาจอยู่ใกล้ท่อปัสสาวะ
- ห้ามฉีดน้ำ หรือล้างข้างในช่องคลอด เนื่องจากหากยิ่งฉีด ตัวอสุจิ หรือเชื้อแบคทีเรียจะยิ่งเข้าไปในช่องคลอดมากขึ้น ส่งผลให้เสี่ยงตั้งครรภ์หรือได้รับเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ฝ่ายหญิงควรทำความสะอาดอวัยวะเพศตนเอง โดยราดน้ำอุ่นที่อวัยวะเพศขณะที่นั่งยอง ๆ
- ฝ่ายหญิงอาจต้องรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ในกรณีที่ไม่ได้คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น โดยรับประทานยาภายใน 72 ชั่วโมงแรกหลังถุงยางแตก เนื่องจากอาจเสี่ยงตั้งครรภ์ได้
- ควรเข้ารับการตรวจสุขภาวะทางเพศภายใน 14 วันหลังถุงยางแตก หรือเร็วกว่านั้นในกรณีที่เกิดอาการอื่น
- ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ
สำหรับการร่วมเพศทางทวารหนัก
- ควรถ่ายหนักเพื่อกำจัดอสุจิที่อาจตกค้างออกมาให้มากที่สุด
- ไม่ควรฉีดน้ำหรือล้างข้างในช่องทวาร เนื่องจากแรงฉีดน้ำอาจทำให้เกิดน้ำในทวารหนัก ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเชื้อเอชไอวีมากขึ้น
- ควรเข้ารับการตรวจสุขภาวะทางเพศและตรวจทวารหนักภายใน 14 วันหลังถุงยางแตก หรือเร็วกว่านั้นในกรณีที่เกิดอาการอื่น ๆ
- ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ
สำหรับการทำออรัลเซ็กส์
- ควรคายหรือกลืนอสุจิทันที ไม่อมอสุจิไว้ในปาก
- บ้วนปากด้วยน้ำสะอาด
- ไม่ควรแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟันเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหลังถุงยางแตกและอสุจิเข้าปาก
- ควรเข้ารับการตรวจสุขภาวะเพศและตรวจคอภายใน 14 วันหลังถุงยางแตก หรือเร็วกว่านั้นในกรณีที่เกิดอาการอื่น ๆ
- ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ
ป้องกัน..ถุงยางแตกได้อย่างไร?
ปัญหาถุงยางแตกป้องกันได้ โดยต้องใส่ใจเรื่องการเก็บรักษาและวิธีใช้ถุงยางอนามัยที่ถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงถุงยางแตก ดังนี้
- เลือกใช้ถุงยางอนามัยให้เหมาะสมกับขนาดอวัยวะเพศของตนเอง
- ห้ามแกะถุงยางอนามัยออกมาด้วยของมีคม เช่น กรรไกร หรือกัดด้วยฟัน
- ตรวจดูสภาพถุงยางอนามัยก่อนนำมาใช้ทุกครั้ง หากพบว่ามีรอยขาดหรือรอยรั่ว ไม่ควรนำมาใช้
- ไม่ใช้ถุงยางอนามัยที่หมดอายุ โดยดูวันหมดอายุที่ระบุบนบรรจุภัณฑ์ก่อนนำมาใช้ทุกครั้ง
- ควรใช้ถุงยางอนามัยเพียงครั้งเดียว ไม่นำกลับมาใช้ซ้ำ
- ควรสวมถุงยางอนามัยเพียงชิ้นเดียว หากสวมถุงยางอนามัยมากกว่านั้น อาจก่อให้เกิดการเสียดสีจนถุงยางอนามัยฉีกขาดได้
- ควรสวมถุงยางอนามัยให้ดีก่อนร่วมเพศ โดยใช้มือหนึ่งจับปลายถุงยาง และใช้มืออีกข้างค่อย ๆ รูดม้วนถุงยางจนถึงฐานอวัยวะเพศชาย ควรให้ถุงยางคลุมอวัยวะเพศพอดีและไล่ฟองอากาศออกไปจนหมด
- ควรเก็บถุงยางอนามัยให้พ้นจากที่ที่มีแสงส่องถึง หรือมีความร้อน เนื่องจากจะทำให้ถุงยางแห้งลงและเสื่อมสภาพ
- ไม่ควรใช้โลชั่น น้ำมัน หรือสารหล่อลื่นที่มีส่วนผสมของน้ำมัน แต่เลือกใช้สารหล่อลื่นชนิดน้ำเท่านั้น
- ห้ามพกถุงยางอนามัยไว้ในกระเป๋าเงิน เนื่องจากอาจทำให้ถุงยางพับงอจนรั่วได้