ฝีดาษลิง อาการเป็นอย่างไร ?

ฝีดาษลิงหรือไข้ทรพิษลิง (Monkeypox) ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1958 ช่วงการระบาดของโรคที่คล้ายไข้ทรพิษหรือ ฝีดาษ โดยพบในบริเวณที่เลี้ยงลิงไว้เพื่อการวิจัย ต่อมาในปีค.ศ.1970 ได้พบการระบาดเกิดขึ้นในมนุษย์ครั้งแรกที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก  โดยเรียกว่าไข้ทรพิษลิงในคน (Human Monkeypox) ซึ่งระบาดอยู่เพียงประเทศในแถบแอฟริกากลางและตะวันตกเท่านั้น และหลังจากนั้นก็ยังพบว่ามีการติดเชื้อในคนอีกถึง  3 ครั้ง ไวรัสตัวนี้มี 2 สายพันธุ์ แตกต่างกันในเรื่องความรุนแรง

  1. สายพันธุ์แอฟริกากลาง Central African Clade
  2. สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก West African Clade

โดยสายพันธุ์แอฟริกากลางมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก

อาการของฝีดาษลิง

ระยะฟักตัวฝีดาษลิง ค่อนข้างยาว  5-21 วัน อาการที่สำคัญ คือ ไข้  ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว  ไม่ค่อยมีน้ำมูก หลังไข้ 1-3 วันจะมีผื่นขึ้นกระจายลำตัว แขน ขา และใบหน้าได้ ส่วนใหญ่หายเองได้  อาจมีภาวะแทรกซ้อน และเสียชีวิตได้ แต่พบไม่บ่อย โดยลักษณะตุ่มจะมีหลายแบบตามระยะ ตั้งแต่แดงๆ ต่อมาใสๆ เป็นหนอง บุ่ม แห้งและสะเก็ด อย่างไรก็ตาม การพบตุ่มอย่างเดียวบอกไม่ได้ว่าเป็นฝีดาษลิง

การติดต่อของฝีดาษลิง

จากสัตว์สู่คน

  • เลือด ของสัตว์ที่ติดเชื้อ
  • สารคัดหลั่ง ของสัตว์ที่ติดเชื้อ
  • ตุ่มหนอง ของสัตว์ที่ติดเชื้อ
  • ถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน
  • กินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
  • ติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย

จากคนสู่คน

  • สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางละอองฝอยทางการหายใจ
  • สัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย
  • สัมผัสเลือดหรือรอยโรคที่ผิวหนัง
  • สัมผัสของใช้ส่วนตัวที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย

การวินิจฉัยฝีดาษลิง

แพทย์เฉพาะทางจะพิจารณาจากอาการเป็นหลัก โดยเฉพาะอาการมีไข้พร้อมกับตุ่มน้ำใสคือสัญญาณชัดเจนของโรคฝีดาษลิง โดยจะทำการตรวจหาสารพันธุกรรม Real – Time PCR โดยระยะเวลาการตรวจอยู่ที่ 24 – 48 ชั่วโมง และการตรวจลำดับนิวคลิโอไทด์ด้วยเทคนิค DNA Sequencing ที่ใช้ระยะเวลาการตรวจ 4 – 7 วัน

การรักษาฝีดาษลิง

ยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงแบบจำเพาะ แต่จะเป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ และควบคุมการเกิดภาวะแทรกซ้อน อัตราการเสียชีวิตของโรคนี้อยู่ที่ 1-10%

การป้องกันฝีดาษลิง

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วยโดยเฉพาะลิง และหนู
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรงและสิ่งของของผู้ป่วย รวมถึงลมหายใจของผู้ป่วย
  • หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลทำความสะอาดทุกครั้ง หลังสัมผัสสัตว์ หรือสัมผัสสิ่งของสาธารณะ
  • ใช้ผ้าปิดจมูกและปาก เมื่อไปในสถานที่เสี่ยงมีโรคระบาด
  • ถ้าพบผู้ป่วย ให้แยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากผู้อื่น
  • ปัจจุบันมีวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในการป้องกันโรคฝีดาษลิง ในสหรัฐอเมริกา คือ JYNNEOS

ข้อมูลอ้างอิงจาก : samitivejhospitals ,ch9airport ,bangkokhospital

อ่านบทความอื่น ๆ

Search