HPV (เอชพีวี) ป้องกันได้อย่างไร ?

เอชพีวี HPV เป็นเชื้อไวรัสร้ายแรงชนิดหนึ่ง เนื่องจากเป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งปากมดลูก และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อีกมากมาย ซึ่งหากผู้ติดเชื้อไวรัสเอชพีวีแล้ว จะสังเกตอาการได้ยาก เพราะผู้ป่วยมักไม่มีอาการแสดงออกของโรค จึงส่งผลให้ผู้ป่วยรู้ตัวอีกทีก็อยู่ในช่วงเวลาที่อันตรายเกินไป และยากต่อการรักษาโรค

เอชพีวี (HPV) คืออะไร ?

เอชพีวี (Human Papilloma virus หรือ HPV) เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคร้ายที่มีสาเหตุจากกการติดเชื้อเอชพีวี เนื่องจากเชื้อสามารถแพร่กระจายได้ง่ายผ่านการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง หรือการมีเพศสัมพันธ์ ปัจจุบันพบว่ามีเชื้อชนิดนี้มากกว่า 150 สายพันธุ์ย่อย ซึ่งส่วนใหญ่มักทำให้เกิดโรคหูดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ เชื้อ HPV บางสายพันธุ์อาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งชนิดต่าง ๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก  มะเร็งช่องปากและลำคอ เป็นต้น

อาการของเอชพีวี

ผู้ติดเชื้อ เอชพีวี ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ก่อนที่จะเกิดหูดขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีหูดขึ้นอาจมีลักษณะของหูดที่ปรากฏแตกต่างกันตามสายพันธุ์ของไวรัส ดังนี้

  • หูดชนิดทั่วไป มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ ที่สัมผัสแล้วรู้สึกขรุขระ อาจมีสีเนื้อ สีขาว สีชมพู หรือสีน้ำตาลอ่อน มักขึ้นตามมือ นิ้วมือ หรือข้อศอก ส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่อาจสร้างความเจ็บปวดได้ในบางครั้ง และผิวหนังบริเวณที่เกิดหูดอาจบาดเจ็บหรือมีเลือดออกได้ง่ายกว่าปกติ
  • หูดชนิดแบนราบ มีขนาดเล็ก พื้นผิวเรียบ สีของหูดเข้มกว่าสีผิวปกติและนูนขึ้นมาจากผิวหนังเล็กน้อย เกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย หากเป็นเด็กมักพบตามใบหน้า ในผู้หญิงมักเกิดบริเวณขา ส่วนผู้ชายจะพบได้บ่อยบริเวณเครา
  • หูดฝ่าเท้า มีลักษณะเป็นตุ่มแข็ง สัมผัสแล้วรู้สึกหยาบ มักขึ้นบริเวณส้นเท้าหรือเนินปลายเท้า และทำให้รู้สึกเจ็บในระหว่างยืนหรือเดิน
  • หูดอวัยวะเพศ หรือเรียกว่าหูดหงอนไก่เป็นติ่งเนื้อลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ มักเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหญิง อวัยวะเพศชาย และทวารหนัก ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บ แต่อาจทำให้รู้สึกคัน
  • การติดเชื้อ HPV ที่บริเวณปากมดลูกจากการมีเพศสัมพันธ์ถือเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการปรากฏเมื่อเซลล์มะเร็งลุกลามไปแล้ว ทางที่ดีจึงควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ เพื่อให้สามารถพบความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
  • การติดเชื้อ HPV ยังอาจก่อให้เกิดมะเร็งชนิดอื่น ๆ ได้เช่นกัน ได้แก่ มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก หรือมะเร็งช่องปากและลำคอส่วนบน ซึ่งล้วนไม่มีอาการบ่งบอก จนกว่าจะเข้าสู่ระยะลุกลาม บางรายอาจเกิดหูดหงอนไก่บริเวณทางเดินหายใจ หรือเกิดเยื่อบาง ๆ ภายในกล่องเสียงหลังจากติดเชื้อ 2-3 เดือน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีเสียงแหบ
  • มีอาการตกขาวมากกว่าปกติ อาจมีเลือดปนตกขาว ตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือมีเลือดออกกระปริดกระปรอยจากช่องคลอด หากติดเชื้อที่ทวารหนัก ก็จะมีแผลหรือก้อนยื่นออกมาผิดปกติอาการติดเชื้อในระยะแรกทั้ง 2 แบบนี้ จะเป็นๆ หายๆ แต่ก็มีบ่อยครั้งที่ผู้หญิงบางรายได้รับเชื้อ HPV เข้าสู่ร่างกายแต่ไม่แสดงอาการและเชื้อก็จะหายไปเอง หรือหากร่างกายอ่อนแอก็อาจก่อให้เกิดความผิดปกติภายหลัง

การวินิจฉัย เอชพีวี (HPV)

หากมีหูดขึ้นตามผิวหนัง และสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า แพทย์สามารถวินิจฉัยโดยการตรวจดูลักษณะผิวหนังที่ผิดปกติได้ทันที แต่ในรายที่ไม่มีหูดขึ้นหรือมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แพทย์อาจใช้การวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้

  • การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Test) แพทย์จะเก็บตัวอย่างเซลล์บริเวณปากมดลูกไปตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์โดยใช้กล้องจุลทรรศ์
  • การตรวจตินเพร็พ ( ThinPrep Pap Test ) วิธีการตรวจไม่ต่างไปจากการตรวจแปปสเมียร์โดย แพทย์จะเก็บเซลล์ บริเวณปากมดลูกด้วยอุปกรณ์เฉพาะ แล้วส่งเข้าห้องปฎิบัติการ
  • การตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อเอชพีวี (HPV DNA Test) คือ วิธีการนี้เป็นคือการนำตัวอย่างเซลล์บริเวณอวัยวะเพศไปตรวจหาเชื้อHPVโดยตรง มีความแม่นยำสูง นิยมตรวจเพื่อค้นหาโรคก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
  • การตรวจปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป (Colposcopy) แพทย์จะสอดกล้องคอลโปสโคปขนาดเล็กที่มีกำลังขยายสูงเข้าไปทางช่องคลอดเพื่อตรวจหาเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ
  • การทดสอบด้วยกรดอะซิติก ( Acetic Acid Solution Test )  การตรวจวิธีนี้จะเป็นใช้สารละลายกรดอะซิติก เพื่อทำปฏิกิริยากับเซลล์ปากมดลูก ที่มีผิดปกติและเปลี่ยนบริเวณดังกล่าวให้เป็นสีขาว แพทย์จึงสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย

เอชพีวี พบได้ส่วนไหนของร่างกาย ?

ไวรัสเอชพีวี ที่พบบ่อย คือ การสัมผัสทางผิวหนัง เพราะฉะนั้นการมีเพศสัมพันธ์จึงเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ติดเชื้อไวรัสเอชพีวี บริเวณปากมดลูก และอวัยวะเพศส่วนอื่นๆ ร่วมทั้งทวารหนัก 

เอขพีวี ในผู้ชาย

    • มะเร็งองคชาต
    • มะเร็งช่องปากและหลอดคอ
    • มะเร็งทรารหนัก

เอขพีวี ในผู้หญิง

    • มะเร็งปากมดลูก
    • มะเร็งช่องคลอด
    • มะเร็งปากช่องคลอด
    • มะเร็งช่องปาก
    • มะเร็งทวารหนัก

การป้องกัน เอชพีวี

  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ
  •  การฉีดวัคซีนป้องกันโรค HPV
  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ 
  • ผู้หญิงอายุ 21-65 ปี ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ

การรักษา เอชพีวี (HPV)

ปัจจุบันการติดเชื้อ HPV ไม่มีวิธีรักษาโดยเฉพาะ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะค่อย ๆ กำจัดเชื้อออกไปเอง ส่วนการรักษาความผิดปกติที่เกิดจากการติดเชื้อ จะมีวิธีการแตกต่างกันไปตามลักษณะอาการที่พบ ซึ่งการตรวจพบและเข้ารับการรักษาตั้งแต่โรคยังไม่ลุกลามจะช่วยให้ประสิทธิภาพในการรักษาสูงขึ้น แพทย์มักแนะนำให้ใช้ยา ดังนี้

  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) เป็นยาสำหรับทาภายนอกที่ใช้รักษาหูดชนิดทั่วไป มีสรรพคุณช่วยให้ชั้นผิวหนังบริเวณที่เกิดหูดค่อย ๆ หลุดลอก แต่ยานี้อาจส่งผลข้างเคียงทำให้รู้สึกระคายเคืองผิวและไม่ควรนำมาใช้กับใบหน้า
  • ยาโพโดฟิลอก (Podofilox) มีสรรพคุณช่วยทำลายเนื้อเยื่อของหูด มักใช้กับหูดบริเวณอวัยวะเพศ ยานี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้รู้สึกเจ็บปวดและคันบริเวณผิวหนังที่ทายา
  • ยาอิมิควิโมด (Imiquimod) มีสรรพคุณช่วยกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันเร่งกำจัดเชื้อ HPV แต่อาจส่งผลให้ผิวหนังบริเวณที่ทายาเกิดอาการบวมแดงได้
  • กรดไตรคลอโรอะซีติค (Trichloroacetic Acid) มักใช้สำหรับกำจัดหูดบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรืออวัยวะเพศ และอาจมีผลข้างเคียงเป็นอาการระคายเคืองผิว

ขอบคุณข้อมูล : Pobpad

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

Search