โรคเอดส์ หรือ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Acquired Immune Deficiency Syndrome – AIDS) เป็นกลุ่มอาการ เจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเพราะร่างกายได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ซึ่งจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว ที่เป็นแหล่งสร้างภูมิคุ้มกันโรค ทำให้ภูมิคุ้มกันโรคลดน้อยลง จึงทำให้ติดเชื้อ โรคฉวยโอกาสแทรกซ้อน เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น เช่น วัณโรคในปอด หรือต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา โรคผิวหนังบางชนิด หรือเป็นมะเร็งบาง ชนิดได้ง่ายกว่าคนปกติ และอาจเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต
โรคเอดส์ ติดต่อได้อย่างไร
Table of Contents
โรคเอดส์ สามารถติดต่อได้ 3 ทาง คือ
- การร่วมเพศกับผู้ติดเชื้อเอดส์ โดยไม่ใช่ถุงยางอนามัย ทั้งชายกับชาย หญิงกับหญิง หรือชายกับหญิง จะเป็นช่องทางธรรมชาติหรือไม่ธรรมชาติก็ตาม ล้วนมีโอกาสเสี่ยงต่อการติด โรคเอดส์ทั้งนั้น
- การรับเชื้อทางเลือด พบได้ 2 กรณี คือ ใช้เข็มฉีดยา หรือกระบอกฉีดยา ร่วมกับผู้ติดเชื้อ เอดส์ มักพบในกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น และรับเลือดมาจากการผ่าตัด หรือเพื่อรักษาโรคเลือดบางชนิด แต่ปัจจุบันเลือดที่ได้รับการบริจาคมา จะถูกนำไปตรวจหาเชื้อเอดส์ก่อน จึงมีความปลอดภัยเกือบ 100%
- ติดต่อผ่านทางแม่สู่ลูก เกิดจากแม่ที่มีเชื้อเอดส์และถ่ายทอดให้ทารก ในขณะตั้งครรภ์ ขณะคลอด และภายหลังคลอด ปัจจุบันมีวิธีป้องกันการแพร่เชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูก โดยการทานยาต้านไวรัสในช่วงตั้งครรภ์
โรคเอดส์ มีกี่ระยะ ?
ระยะแรก ในช่วงแรกที่ติดเชื้อปริมาณไม่มาก และยังไม่ได้สร้างภูมิต้านทานขึ้นมาอาจยังตรวจหาเชื้อหรือภูมิต้านทานต่อเชื้อไม่พบ ซึ่งอาจเป็นช่วงตั้งแต่ 2-12 สัปดาห์ ในระยะนี้ผู้ติดเชื้อจะมีอาการไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว มีผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว น้ำหนักลด หรือมีฝ้าขาวในช่องปาก อาการเหล่านี้มักจะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วหายไปได้เอง และเนื่องจากอาการคล้ายไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่หรือไข้ทั่วไป ผู้ติดเชื้ออาจซื้อยากินเองหรือไปพบแพทย์ก็อาจไม่ได้รับการตรวจเลือด นอกจากนี้บางรายหลังติดเชื้ออาจไม่มีอาการผิดปกติปรากฏให้เห็น ดังนั้นผู้ติดเชื้อบางรายจึงอาจไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ในระยะนี้
ระยะสอง เป็นระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ผู้ติดเชื้อมักจะแข็งแรงเป็นปกติเหมือนคนทั่วไป แต่เมื่อตรวจเลือดจะพบเชื้อ HIV และสารภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดนี้ จึงสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ ระยะนี้แม้ว่าจะไม่มีอาการแต่เชื้อ HIV จะแบ่งตัวเจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ และทำลายระบบภูมิคุ้มกันโรคจนมีจำนวนลดลง ระยะนี้คนส่วนใหญ่ มักเป็นอยู่นาน 5-10 ปี
ระยะสาม เป็นระยะโรคเอดส์ ในระยะนี้ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะถูกทำลายลงไปมาก ทำให้เป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย หรือที่เรียกว่า “โรคติดเชื้อฉวยโอกาส” ซึ่งมีหลายชนิด แล้วแต่ว่าจะติดเชื้อชนิดใด และเกิดที่ส่วนใดของร่างกาย หากเป็นวัณโรคที่ปอด จะมีอาการไข้เรื้อรัง ไอเป็นเลือด ถ้าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อ Cryptococcus จะมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง คอแข็ง คลื่นไส้อาเจียน หากเป็นโรคเอดส์ของระบบประสาทก็จะมีอาการความจำเสื่อม ซึมเศร้า แขนขาอ่อนแรง เป็นต้น
โรคเอดส์ มีอาการอย่างไร ?
- มีไข้เรื้อรัง อาการไข้อาจเกิดจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาสเรื้อรังบางชนิด
- น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
- ไอเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุต่อเนื่อง หรือไม่หายขาดนานเกิน 3 เดือน
- ถ่ายอุจจาระเหลวบ่อยๆ (ท้องร่วง/ท้องเสียเรื้อรัง)
- ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัว เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอ ขาหนีบ เหนือข้อศอก รักแร้ มีขนาดใหญ่ผิดปกติ
- เกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสในบางอวัยวะ เช่น ลิ้นเป็นฝ้าขาวเรื้อรังหรือในช่องปาก
- โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มีก้อนนูนสีแดงปนม่วงขึ้นตามลำตัว หรือตามแขน ขา
- มีอาการทางระบบประสาท เช่น อาการชัก แขนขาอ่อนแรง ซึม หลงลืม เอะอะโวยวาย
- มีผื่นเชื้อราหรือโรคกลากเป็นบริเวณกว้าง โรคเริมที่เป็นอย่างรุนแรง โรคงูสวัด โรคหูดข้าวสุก
เอชไอวี กับ โรคเอดส์ ต่างกันอย่างไร ?
เอชไอวี คือ ไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเอดส์ หมายความว่าเอดส์ เป็นเพียงอาการของผู้ที่ติดเชื้อ เอชไอวี และไม่ได้รับการรักษาเท่านั้น จึงจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคเอดส์ได้ในตอนท้าย ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ติดเชื้อเอชไอวี จะเป็นโรคเอดส์เสมอไป สรุปคือ ระยะแรก ระยะที่สอง ของการติดเชื้อเอชไอวี ยังไม่ถือเป็นโรคเอดส์ ส่วนระยะที่สาม (ระยะสุดท้าย) ของการติดเชื้อเอชไอวี จะเรียกว่าโรคเอดส์
โรคเอดส์ ป้องกันได้อย่างไร ?
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- ก่อนสมรส หรือมีลูก ควรตรวจเลือดก่อนเสมอ
- ตรวจเอชไอวีเป็นประจำอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง
ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคเอดส์
- พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- งดสูบบุหรี่
- ลดความเครียด
- ออกกำลังกายเป็นประจำ (แต่อย่าหักโหมจนเกินไป)
- หากิจกรรมที่ชอบทำหรือกิจกรรมที่ผ่อนคลาย
- ผู้ป่วยโรคเอดส์ควรรับประทานยาต้านไวรัสให้ตรงเวลาเป็นประจำและต่อเนื่องทุกวันตลอดชีวิต
- ดูแลตัวเองในด้านสุขอนามัยเพื่อไม่ให้เกิดโรคฉวยโอกาสและเพื่อลดโอกาสในการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
- ไม่ควรทานอาหารดิบ ต้องปรุงสุกก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
- ทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้อย่างสม่ำเสมอ
การรักษาโรคเอดส์
โรคเอดส์ ในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สามารถควบคุมโรคและทำให้มีชีวิตอยู่ได้นานอย่างคนปกติได้ โดยแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อ เอชไอวีและผู้ป่วยโรคเอดส์ คือการใช้ยายับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสหรือ ยาต้านเชื้อไวรัส ซึ่งผู้ป่วยโรคเอดส์ควรรับประทานยาต้านไวรัส ให้ตรงเวลา เป็นประจำ และต่อเนื่องทุกวัน ไปตลอด
ขอบคุณข้อมูล : doctorraksa, haamor
อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดรักษาเอดส์ให้หายขาด มีเพียงแต่ยาที่ช่วยชะลอการพัฒนาโรคและลดอัตราการเสียชีวิตจากเอดส์ หากผู้ติดเชื้อรู้ตัวและได้รับการรักษาแต่แรกเริ่ม ก็อาจช่วยไม่ให้การติดเชื้อเอชไอวีลุกลามไปสู่ระยะที่เป็นเอดส์ได้