เริม (Herpes) ไม่อันตราย แต่รักษาไม่หายขาด

เริม (Herpes) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งของผิวหนังและเยื่อเมือกต่าง ๆที่พบบ่อยมากบริเวณปาก และอวัยวะเพศแล้ว ทำให้มีลักษณะพุขึ้นเป็นตุ่มใสเล็ก ๆ แล้วแตกเป็นแผล ตกสะเก็ด ซึ่งหายได้เอง แต่มักกำเริบซ้ำและเป็น ๆ หาย ๆ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมักมีอาการกำเริบได้

สาเหตุของ เริม

เชื้อไวรัสเริมแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  • Herpes Simplex Virus type 1: HSV-1 มักพบการติดเชื้อบริเวณปากหรือรอบๆ  พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
  • Herpes Simplex Virus type 2: HSV-2 เป็นการติดเชื้อที่บริเวณอวัยวะสืบพันธ์ หรือ อวัยวะเพศ ช่องคลอด ปากมดลูก ทหารหนัก อวัยวะเพศชาย ถุงอัณฑะ เป็นต้น พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก

อาการของ เริม

อาการของการติดเชื้อทั้ง 2 ชนิด จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ติดเชื้อ อายุ ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย และชนิดของเชื้อไวรัสเริม จะเริ่มจากพบตุ่มพองใสๆ เล็กๆ ที่บริเวณผิวหนัง จากนั้น ตุ่มใสจะเริ่มพองและปวดแสบปวดร้อน เมื่อผ่านไป 1- 2 วัน ตุ่มใสจะมีน้ำอยู่ข้างในและเริ่มแตกออก หากมีการติดเชื้อก็จะเกิดการอักเสบลุกลามและเกิดแผลขนาดใหญ่รักษาหายยากขึ้น อาการร่วมนอกจากการมีตุ่มใส คือ อาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย เนื่องจากเป็นปฏิกิริยาการก่อโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส อาการจึงคล้ายโรคหวัด แต่ไม่มีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลเหมือนหวัด แต่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นครั้งแรกจะรู้สึกอาการรุนแรงและใช้เวลานานกว่าจะหายประมาณ 1-2  สัปดาห์ ส่วนผู้ที่เคยเป็นแล้วกลับมาเป็นใหม่ระยะเวลาการหายจะเร็วขึ้น เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันแล้ว

การวินิจฉัย เริม

แพทย์สามารถวินิจฉัยเริมได้จากประวัติอาการ การตรวจร่างกาย และจากลักษณะตุ่มน้ำ แต่ในบางรายซึ่งมีอาการไม่ชัดเจน แพทย์อาจตรวจหาเชื้อด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การขูดแผลนำเนื้อเยื่อไปย้อมสี การตรวจหาสารก่อภูมิต้านทาน (แอนติเจน) หรือดีเอ็นเอของเชื้อเริมจากแผลหรือสิ่งคัดหลั่ง การทดสอบทางน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) มักตรวจพบตุ่มน้ำใสขนาด 2-3 มิลลิเมตร หลายตุ่มอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ หรือพบตุ่มตกสะเก็ดหรือแผลเล็ก ๆ คล้ายรอยถลอกในบริเวณผิวหนังส่วนใดส่วนหนึ่ง ริมฝีปาก หรือที่อวัยวะเพศ และอาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงโตและเจ็บ ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย อาจตรวจพบแผลขึ้นพร้อมกันหลายแห่งในช่องปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กที่เป็นเริมในช่องปาก

เป็นเริมดูแลรักษาตัวเองอย่างไร ?

  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ควรกินยาให้ครบตามแพทย์สั่ง
  • ถ้าเป็นเริมที่คอ แนะนำให้กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ
  • หากเป็นตุ่มแผล บริเวณอื่นๆ เช่น เริมที่ขา เริมที่ก้น เริมที่จมูก ควรอาบน้ำและทำความสะอาดแผลให้สะอาด เช่น ฟอกสบู่ให้สะอาด เพื่อป้องกันไม่ให้ตุ่มเป็นหนอง ไม่ควรแกะหรือเกาตุ่มแผล
  • กรณีที่มีไข้ สามารถรับประทานยาลดไข้ เพื่อบรรเทาอาการ
  • ควรทำความสะอาดแผลวันละ 2 ครั้ง โดยใช้สบู่อ่อนๆและน้ำสะอาดล้างเบาๆ
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างมีตุ่มหรือแผล
  • หากมีอาการปวดแสบปวดร้อนที่บริเวณรอยโรค อาจรับประทานยาแก้ปวดอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือที่เรารู้จักกันว่ายาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้น
  • หากเป็น เริมที่ปาก ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร้อน เผ็ด และเค็ม รวมถึงผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เพราะจะส่งผลต่อแผลที่ปากทำให้เกิดอาการแสบ
  • ควรรีบไปพบแพทย์ เมื่อเกิดตุ่งพองเป็นจำนวนมาก และมีไข้สูงภายใน 1-3 วัน
  • งดรับประทานอาหารแปรรูป เช่น ของหมัก ดอง แหนม ปลาร้า กะปิ อาหารที่ไม่สุก

การรักษา เริม

เริมไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เแม้ว่าแผลเริมจะหายแล้วแต่เชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus) ก็ยังคงหลบซ่อนอยูบริเวณประสาท และจะแสดงอาการอีกครั้งเมื่อภูมิคุ้มกันต่ำลง จึงทำให้การรักษาเริมโดยส่วนใหญ่เน้นที่การบรรเทาอาการเจ็บปวดจากแผลเริม และการควบคุมความรุนแรงของอาการ ความถี่ของการเกิดอาการ รวมทั้งการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส หากผู้ป่วยมีอาการแสดง แพทย์จะให้การรักษาไปตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวดลดไข้ ยาบรรเทาอาการคัน ร่วมไปกับการให้ยาต้านไวรัส ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของโรค

เริม ป้องกันอย่างไร ?

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผล น้ำลาย หรือสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วย 
  • ควรรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้งห้าหมู่ในทุก ๆ วัน นอนหลับพักผ่อนให้เพียง และทำให้จิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส/หลีกเลี่ยงความเครียด

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

Search