ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นอย่างไง ?

ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่ง ซึ่งโดยปกติจะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์

ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่ง ซึ่งโดยปกติจะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์

สาเหตุของโรคซิฟิลิส

ซิฟิลิสเกิดจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema pallidum) ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายของเราได้ผ่านทางรอยขีดข่วนหรือบาดแผลเล็ก ๆ บนผิวหนังและเยื่อบุต่าง ๆ การแพร่กระจายของเชื้อชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในระยะแรก ซึ่งเป็นระยะที่มีแผลริมแข็ง (Chancre) หรือในระยะที่สอง ซึ่งจะมีอาการแสดงคือมีผื่นขึ้น หรือแม้แต่ในช่วงแรก ๆ ของระยะแฝง (Early latent phase) ซึ่งไม่มีอาการแสดงใด ๆ เลยก็ตาม

หลายคนมีความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับการติดต่อของเชื้อซิฟิลิส ในความเป็นจริงเชื้อชนิดนี้จะไม่ติดต่อผ่านทางการใส่เสื้อผ้าร่วมกัน ใช้ห้องน้ำร่วมกัน หรือกินอาหารจากภาชนะเดียวกัน หรือแม้แต่จากลูกบิดประตู สระว่ายน้ำ อ่างอาบน้ำ หรือการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ นอกจากนี้ มีการติดเชื้อบางกรณีที่พบได้ไม่บ่อยนัก สามารถเกิดได้จากการสัมผัสโดยตรงกับบริเวณที่มีการติดเชื้ออยู่ขณะนั้น เช่น ผ่านทางการจูบ เป็นต้น

อาการของโรคซิฟิลิส (Syphilis) และการวินิจฉัยโรคซิฟิลิส

การติดเชื้อซิฟิลิสจะมีการดำเนินของโรคเป็นระยะ ๆ แต่ละระยะจะมีอาการต่างกันไป ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะประกอบไปด้วยระยะเริ่มต้น (Primary stage) ระยะที่สอง (Secondary stage) ระยะแฝง (Latent stage) และระยะที่สาม (Tertiary stage)

อย่างไรก็ตามโรคซิฟิลิสไม่ได้จำเป็นต้องมีลำดับการดำเนินโรคตามที่กล่าวเสมอไป อาจมีการสลับหรือมีระยะทับซ้อนกันได้ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อซิฟิลิสบางคนอาจได้รับเชื้อไปเป็นระยะเวลานานหลายปีโดยไม่ได้รู้ตัวเลยก็เป็นได้

โรคซิฟิลิสระยะที่หนึ่ง (Primary Syphilis)

โรคซิฟิลิสมักจะแสดงอาการเริ่มต้นจากการมีแผลเล็ก ๆ ที่เรียกว่าแผลริมแข็ง (Chancre) โดยแผลริมแข็งจะเกิดขึ้นหลังจากเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายประมาณ 3 สัปดาห์ สำหรับผู้ชายแผลริมแข็งมักจะเกิดในบริเวณปลายหรือลำอวัยวะเพศ

ในผู้ป่วยบางราย อาจไม่ทันสังเกตหรือไม่รู้ตัวว่ามีแผลเกิดขึ้น เนื่องจากแผลนี้จะไม่มีอาการปวด และแผลอาจซ่อนอยู่ภายในช่องคลอดหรือทวารหนัก จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยบางรายไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อซิฟิลิสได้

แผลริมแข็งนี้โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพียงตำแหน่งเดียว แต่ก็มีบางส่วนที่มีแผลหลายตำแหน่ง โดยแผลริมแข็งจะสามารถหายเองได้ภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ แม้ไม่ได้ทำการรักษาใด ๆ ก็ตาม

โรคซิฟิลิสระยะที่สอง (Secondary Syphilis)

หลังจากที่แผลริมแข็งหายไปไม่นาน ผู้ป่วยซิฟิลิสอาจมีผื่นขึ้นได้ ผื่นนี้มักจะขึ้นบริเวณลำตัว แต่ก็สามารถกระจายไปทั่วร่างกาย รวมถึงมีผื่นขึ้นที่มือและเท้าได้เช่นเดียวกัน หรือบางครั้งอาจมีแผลคล้ายหูด (Wart-like sores) ขึ้นภายในปาก หรือบริเวณอวัยวะเพศร่วมด้วย

โดยปกติผื่นจากซิฟิลิสจะไม่มีอาการคัน แต่อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยดังต่อไปนี้

  • อาการปวดกล้ามเนื้อ
  • ไข้
  • เจ็บคอ
  • ต่อมน้ำเหลืองโต

อาการต่าง ๆ เหล่านี้สามารถหายไปเองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่ก็สามารถกลับมาเป็นใหม่ได้เช่นเดียวกัน

โรคซิฟิลิสระยะแฝง (Latent Stage)

หากไม่ได้รักษา ซิฟิลิสระยะที่สอง (Secondary stage) สามารถดำเนินต่อไปเป็นระยะแฝง (Latent stage) หรือระยะหลบซ่อน (Hidden stage) ได้

ในระยะแฝง ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ ที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อซิฟิลิสเลย โดยระยะแฝงนี้อาจกินระยะเวลาได้นานเป็นปี หรืออาจหายสนิท ไม่มีอาการกลับขึ้นมาอีกเลยก็ได้

โรคซิฟิลิสระยะสาม (Tertiary stage)

ซิฟิลิสระยะแฝง (Latent stage) อาจมีการดำเนินโรคต่อเนื่องไปสู่ระยะสาม (Tertiary stage) โดยมีอัตราส่วนผู้ติดเชื้อประมาณ 15-30 % จากผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้ทำการรักษาทั้งหมดจะพัฒนามาสู่ระยะนี้

อาการของซิฟิลิสระยะที่สาม การติดเชื้ออาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อสมอง ระบบประสาท ตา หัวใจ เส้นเลือด ตับ หรือกระดูกและข้อต่อ ซึ่งอาการต่าง ๆ เหล่านี้ จะเกิดขึ้นหลายปีหลังจากติดเชื้อแต่ไม่ได้รักษา

การตรวจและวินิจฉัยโรคซิฟิลิส

หากคุณหรือบุตรประสบปัญหามีสารคัดหลั่งผิดปกติจากบริเวณอวัยวะเพศ หรือมีผื่นขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณขาหนีบ ให้รีบไปพบแพทย์

หากสงสัยการติดเชื้อซิฟิลิส แพทย์จะตรวจเพื่อยืนยันการติดเชื้อ โดยใช้วิธีเจาะเลือดหาแอนติบอดี (Antibody) หรือภูมิคุ้มกันต่อเชื้อแบคทีเรียที่ร่างกายเราสร้างขึ้นมา โดยแอนติบอดีต่อเชื้อซิฟิลิสนี้จะคงอยู่ในร่างกายเราได้เป็นเวลานานหลายปี ทำให้การตรวจด้วยวิธีนี้สามารถบ่งบอกการติดเชื้อในอดีตได้

ในซิฟิลิสระยะต้นและระยะที่สอง แพทย์อาจเก็บตัวอย่างเซลล์ (Cell) จากบริเวณบาดแผลหรือบริเวณผื่นเพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย

หากแพทย์สงสัยว่าคุณอาจมีการติดเชื้อเป็นโรคซิฟิลิสระยะที่สาม และมีอาการแทรกซ้อนทางระบบประสาทเกิดขึ้น อาจมีความจำเป็นที่จะต้องเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar puncture) เพื่อนำน้ำไขสันหลัง (Cerebral fluid) ไปตรวจหาความผิดปกติต่อไป

ผลกระทบที่เกิดจากซิฟิลิส

หากไม่ได้รับการรักษา ซิฟิลิสสามารถส่งผลต่อหัวใจและสมอง และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ จากรายงานการศึกษาพบว่าการติดเชื้อซิฟิลิสมีความเกี่ยวข้องกับโรคเส้นเลือดแดงโป่งพอง (Arterial aneurysm) การอักเสบของเส้นเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้า (Inflammation of aorta) ซึ่งเป็นเส้นเลือดแดงหลักของร่างกาย และยังมีผลทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อลิ้นหัวใจได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ซิฟิลิสยังเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางระบบประสาทและระบบไหลเวียนโลหิตอีกหลายประการ ได้แก่

  • โรคหลอดเลือดสมองแตก ตีบ ตัน หรือฉีกขาด (Stroke)
  • โรคเยื่อหุ้มไขสันหลังอักเสบ (Meningitis)
  • การได้ยินผิดปกติ
  • การมองเห็นผิดปกติ
  • โรคความจำเสื่อม

การติดเชื้อซิฟิลิสยังมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ซึ่งก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือที่เรียกกันว่าเอดส์ (AIDs) อีกด้วย

จากรายงานการศึกษาระบุว่า ผู้ใหญ่ที่ได้รับเชื้อซิฟิลิสทางการมีเพศสัมพันธ์ มีโอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ได้มากถึง 2-5 เท่าของคนทั่วไป โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่บาดแผลริมแข็งในโรคซิฟิลิสสามารถมีเลือดออกและทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเอชไอวีได้ ในผู้หญิง ซิฟิลิสเป็นปัญหาสำคัญในช่วงที่ตั้งครรภ์ ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า อาจทำให้เกิดการติดเชื้อซิฟิลิสโดยกำเนิด และมีผลทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ทารกเสียชีวิตในครรภ์ และการเสียชีวิตของทารกได้ในช่วงไม่กี่วันหลังคลอด และท้ายที่สุด ผู้ป่วยที่ติดเชื้อซิฟิลิสอาจเกิดตุ่มหรือก้อนเนื้อขนาดใหญ่ที่เรียกว่ากัมม่า (Gummas) ซึ่งกัมม่าสามารถเกิดได้ทั้งบริเวณ ผิวหนัง กระดูก หรืออวัยวะภายในก็ได้ โดยจะเกิดในระยะหลังของการติดเชื้อ (Late stage of infection)

การรักษาโรคซิฟิลิส

หากพบอาการป่วยของโรคนี้ ควรได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยไม่มีผลแทรกซ้อนในระยะยาว

ข้อแนะนำวิธีรักษาสำหรับโรคซิฟิลิส คือ การใช้ยาเพนิซิลลิน (Penicillin) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่ง โดยสรรพคุณของเพนิซิลลินนั้นอยู่ที่ความสามารถในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่าทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema pallidum) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคซิฟิลิสนั่นเอง ในช่วงการรักษา แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะจบการรักษา และผลตรวจเลือดของผู้ป่วยก็ต้องได้รับการยืนยันว่าหายขาดแน่นอนแล้ว

นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจแนะนำให้ผู้ป่วยแจ้งคู่นอนของตนเพื่อเข้ามารับการตรวจและรักษาอย่างถูกต้อง รวมทั้งอาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวี (HIV) เนื่องจากการป่วยเป็นโรคซิฟิลิสนั้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีที่สูงขึ้นกว่าเดิมด้วย

โรคซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ ?

โรคซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าได้รับการตรวจและรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่น ๆ หากพบว่าการติดเชื้อของผู้ป่วยอยู่ในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี จะสามารถหยุดการลุกลามของโรคได้ด้วยการฉีดยาเพนิซิลลินเพียง 1 เข็ม แต่ถ้าผู้ป่วยมีการติดเชื้อเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปี อาจต้องรับการยาฉีดชนิดนี้มากขึ้นอีก

เมื่อพบว่าผู้ป่วยแพ้ยาเพนิซิลลิน แพทย์ก็จะเสนอการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดอื่น ๆ แต่กระนั้น ยาเพนิซิลลินเป็นยาปฏิชีวนะเพียงชนิดเดียวที่สามารถใช้กับสตรีมีครรภ์ได้

การรักษา 

ให้ยาต้านจุลชีพ การรักษาซิฟิลิสในระยะแรก (Early syphilis) จะให้ยา Benzathine penicillin G 2.4 ล้านยูนิต (MU) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (IM) Doxycycline 100 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 2 ครั้ง 2 สัปดาห์ หรือ Erythromycin 500 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 4 ครั้ง 2 สัปดาห์ หรือ Tetracycline 500 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 4 ครั้ง 2 สัปดาห์ หรือ Ceftriaxone 125 มิลลิกรัม ฉีดทางกล้ามเนื้อวันละครั้ง 10 วัน หรือ 250 มิลลิกรัม ฉีดทางกล้ามเนื้อวันเว้นวัน 5 ครั้ง หรือ 1 กรัม ฉีดทางกล้ามเนื้อวันเว้นวัน 4 ครั้ง

การรักษาซิฟิลิสในระยะปลาย (Late syphilis) จะให้ยา Benzathine penicillin G 2.4 ล้านยูนิต (MU) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (IM) สัปดาห์ละครั้ง 3 สัปดาห์ หรือ Penicillin G 2.4 ล้านยูนิต (MU) ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ (IV) ทุก 4 ชั่วโมง 10 – 14 วัน หรือ Doxycycline 100 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 2 ครั้ง 4 สัปดาห์ หรือ Tetracycline 500 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 4 ครั้ง 4 สัปดาห์

การรักษาซิฟิลิสประสาทหรือมีการติดเชื้อที่ระบบประสาทส่วนกลาง จะให้ยา Procaine Penicillin G 2.4 ล้านยูนิต (MU) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (IM) ฉีดวันละครั้งหรือ Probenecid 500 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 4 ครั้ง 10-14 วัน

การรักษาซิฟิลิสแต่กำเนิด จะรักษาด้วย Penicillin G 50,000 ยูนิต/กิโลกรัม IV ทุก 12 ชั่วโมง 1 สัปดาห์ หรือ 50,000 ยูนิต/กิโลกรัม IV ทุก 8 ชั่วโมง 10-14 วัน Procaine Penicillin G 50,000 ยูนิต/กิโลกรัม IM วันละครั้ง 10-14 วัน

การแพ้ยาเพนิซิลลินและการตั้งครรภ์

หากผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์เกิดแพ้ยาเพนิซิลลิน แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่เรียกว่า ดิเซนซิไทเซชัน (Desensitization) ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถใช้ยาเพนิซิลลินได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประวัติการแพ้ยาของผู้ป่วย หากพบว่ามีอาการแพ้อย่างรุนแรง แพทย์อาจต้องให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวในโรงพยาบาล

วิธีรักษาประเภทดิเซนซิไทเซชันคือการรักษาด้วยวิธีให้ยาในปริมาณน้อย ๆ ก่อน จากนั้นค่อย ๆ เพิ่มขนาดยาขึ้นภายในเวลา 12 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายของผู้ป่วยได้ปรับตัว จนสามารถทนต่อยาเพนิซิลลินได้ สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในระหว่างตั้งครรภ์ เมื่อให้กำเนิดบุตรแล้ว ควรพาบุตรมารับการตรวจและรักษาเช่นเดียวกันด้วย

การป้องกันการติดเชื้อซิฟิลิส

แม้ว่าการรักษาโรคซิฟิลิสจะสามารถป้องกันการเกิดผลกระทบที่ตามมาภายหลังได้ แต่อาการหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วนั้น ไม่สามารถย้อนกลับได้ ดังนั้น แพทย์จึงแนะนำให้ป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อตั้งแต่แรก โดยมีวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเพศสัมพันธ์เฉพาะสามี-ภรรยา / คู่นอนของตนเองคนเดียวเท่านั้น
  • ใช้ถุงยางอนามัยระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ (การใช้ถุงยางอนามัยสามารถลดการติดเชื้อซิฟิลิสได้ แต่ตัวถุงยางอนามัยต้องครอบคลุมบริเวณแผลด้วย)
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมึนเมา หรือยาเสพติดประเภทต่าง ๆ (การดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมึนเมา หรือการใช้ยาเสพติดต่าง ๆ มีผลทำให้ขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ และอาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันได้)
  • สำหรับสตรีมีครรภ์ทุกราย แพทย์แนะนำว่าควรได้รับการตรวจคัดกรองซิฟิลิสระหว่างการตั้งครรภ์

ขอบคุณข้อมูลดีๆจากหนังสือ “คู่มือโรค” โดยปราณี ทู้ไพเราะ จากจากโรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอมูลดี ๆ จาก www.honestdocs.co

Search