ชายสำส่อน ไม่ป้องกัน ทำหญิงเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก

สาเหตุ “มะเร็งปากมดลูก” ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมสำส่อนของผู้ชาย
คุณผู้ชายรู้หรือไม่ว่า คุณอาจเป็นฆาตกรเงียบที่ทำร้ายคนรักของคุณด้วย
การนำเชื้อที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกมาสู่เธอโดยไม่รู้ตัว

ชายสำส่อน ไม่ป้องกัน ทำหญิงเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก

สาเหตุ “มะเร็งปากมดลูก” ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมสำส่อนของผู้ชาย คุณผู้ชายรู้หรือไม่ว่า คุณอาจเป็นฆาตกรเงียบที่ทำร้ายคนรักของคุณด้วยการนำเชื้อที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกมาสู่เธอโดยไม่รู้ตัว

มะเร็งปากมดลูกคือ

มะเร็งที่เกิดบริเวณปากมดลูกของผู้หญิง มีอาการบ่งชี้ คือ เลือดออกจากช่องคลอดอย่างผิดปกติโดยที่ไม่ใช่เลือดประจำเดือน มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ ปวดในช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวมากผิดปกติ ตกขาวคล้ายหนอง ช่องคลอดมีกลิ่นผิดปกติ หรือผู้ที่อยู่ในวัยทองมีเลือดออกหลังจากที่หมดประจำเดือนไปแล้ว โดยทั่วไปมักไม่พบอาการแสดงในระยะแรก แต่จะมีอาการเมื่อเซลล์มะเร็งได้ลุกลามไปแล้ว

สาเหตุของมะเร็งปากมดลูก

กว่า 99% มะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อมะเร็งปากมดลูกได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในระยะก่อนมะเร็งมดลูก (CIN) ภูมิคุ้มกันต่ำ การสูบบุหรี่ และการมีลูกหลายคน เป็นต้น

HPV (Human Papillomavirus) คืออะไร?

HPV (Human Papillomavirus) เป็นเชื้อไวรัสที่พบบ่อยในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถเกิดการติดต่อได้หลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นทางปาก ช่องคลอด ทวารหนัก หรือการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง ส่วนมากผู้ป่วยมักจะได้รับเชื้อดังกล่าวผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่ติดเชื้อ นั่นหมายความว่าผู้ที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้จากการมีเพศสัมพันธ์นั่นเอง

ไวรัสเอชพีวี เกี่ยวข้องกับมะเร็งปากมดลูกอย่างไร?

HPV (Human Papilloma Virus) เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่มีจำนวนมากกว่า 150 สายพันธุ์ และสามารถพบได้บ่อยในบุคคลทั่วไป ปัจจุบันพบว่ามีไวรัส HPV 15 ชนิดที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ที่จัดได้ว่ามีความอันตรายและส่งผลร้ายต่อสุขภาพมากที่สุดได้แก่ สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นเชื้อเอชพีวีที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกถึง 70%

 

แนวทางการป้องกันและลดความเสี่ยง

  1. สามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ที่สามารถป้องกันไวรัสนี้ได้บางสายพันธุ์ รวมถึงสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่าง HPV-16 และ HPV-18 ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV
  2. ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดต่อ เพราะการสวมใส่ถุงยางอนามัยจะมีประสิทธิภาพในการช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสได้ รวมทั้งไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ หรือมีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ
  3. ไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่ทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพต่ำลงในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสเอชพีวี เป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก
  4. ดูแลสุขภาพร่างกาย ตรวจสุขภาพ และตรวจด้วยชุดคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นระยะ
  5. รีบไปพบแพทย์หากพบอาการแสดงของโรคที่น่าสงสัย เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก หรือเพื่อให้ทราบระยะของการป่วยแล้วเข้ารับการรักษาได้ตั้งแต่แรกเริ่มก่อนมะเร็งจะลุกลาม

 

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก: ผู้จัดการออนไลน์

Search